Carl Jung

คาร์ล ยุง เกิดที่สวิสเซอร์แลนด์ เป็นบุตรของบาทหลวงของกลุ่มปฏิรูปสวิสเซอร์แลนด์ (Swiss Reform) เขาเข้าศึกษาคณะแพทย์ศาสตร์ของมหาวิทยาลัยบาเซิล  ได้รับปริญญาในปี 1900 และตัดสินใจเป็นจิตแพทย์ ยุงทำงานที่คลินิกจิตเวชของมหาวิทยาลัยซูริค โดยเป็นผู้ช่วยของเออเกน บลอยเลอร์* (Eugen Bleuler) (1857 – 1939) จิตแพทย์ผู้มีกิตติศัพท์ในงานด้านโรคจิตเภท (schizophrenia) นอกจากนี้ ยุงยังเดินทางไปฝรั่งเศสเพื่อศึกษากับปิแอร์ เจเนต์ (Pierre Jenet) (1859 – 1947) จิตแพทย์ผู้มีชื่อเสียงอีกด้วย ในปี 1905 เขาได้รับเชิญไปเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยซูริค และกลายเป็นแพทย์อาวุโสที่คลินิกของที่นั่น แต่ในที่สุดนิสัยรักความเป็นส่วนตัวที่เพิ่มมากขึ้นก็ผลักดันให้เขาลาออกจาก มหาวิทยาลัย การศึกษาเกี่ยวกับโรคจิตเภทชิ้นแรกๆ ของยุงที่ได้รับการตีพิมพ์ทำให้เขามีชื่อเสียงขึ้นมา นอกจากนี้ เขายังเป็นที่รู้จักในฐานะที่คิดค้นแบบทดสอบการเชื่อมโยงคำศัพท์ (word association test) ขึ้นอีกด้วย

ยุงได้อ่านหนังสือ The Interpretation of Dreams ของซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) หลังจากที่มันถูกตีพิมพ์ออกมาไม่นานในปี 1900 และเริ่มติดต่อกับฟรอยด์ผ่านทางจดหมาย ในปี 1907 ทั้งสองได้พบกันและเริ่มติดต่อกันอย่างใกล้ชิดเป็นเวลามากกว่า 6 ปีหลังจากนั้น ในปี 1909 ทั้งคู่เดินทางไปอเมริกาเพื่อเข้าร่วมงานครบรอบ 20 ปีของมหาวิทยาลัยคลาร์ก ที่เมืองวอร์เชสเตอร์ รัฐเมซซาชูเซทส์ โดยการเชิญของจี. แสตนลี่ ฮอลล์ (G. Stanley Hall) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ยุงกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสนทนาที่พบกันที่บ้านของฟรอยด์ และมีคนอื่น ได้แก่ อัลเฟรด แอดเลอร์ (Alfred Adler) และออตโต แรนค์ (Otto Rank) เข้าร่วมด้วย กลุ่มสนทนานี้พัฒนาไปเป็นสมาคมวิเคราะห์จิตแห่งเวียนนา (Vienna Psychoanalytic Society) และในปี 1911 ยุงก็ได้เป็นประธานคนแรกของสมาคมจิตวิเคราะห์นานาชาติ อย่างไรก็ตาม ยุงเริ่มพัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับจิตวิเคราะห์ (psychoanalysis) และธรรมชาติของจิตไร้สำนึก (unconscious) ที่ต่างจากฟรอยด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยืนกรานของฟรอยด์ว่าด้วยเรื่องเพศเป็นพื้นฐานของอาการ ทางประสาท (neurosis) หลังจากหนังสือ Psychology of the Unconscious ของยุงได้รับการตีพิมพ์ในปี 1912 ความไม่ลงรอยกันระหว่างทั้งคู่ก็เริ่มต้นขึ้น และความสัมพันธ์ของพวกเขาก็สิ้นสุดลงในปี 1914 ในช่วงเดียวกันนี้ ยุงได้เผชิญกับช่วงเวลาแห่งความสับสนในชีวิต และได้ทำการวิเคราะห์ตนเองอย่างละเอียดจากความฝัน (เช่นเดียวกับที่ฟรอยด์ได้เผชิญกับวิกฤติการณ์ที่คล้ายคลึงกันในชีวิตของ เขา) นอกจากนี้ ยุงยังทำการสำรวจเทพนิยายและสัญลักษณ์อีกด้วย ความสนใจเรื่องนี้ทำให้เขาค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยการเดินทางไปทวีปแอฟริกาและฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกา ในช่วงทศวรรษ 1920 ใน เพื่อศึกษาเรื่องเล่าปรัมปราและศาสนาของวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ของตะวันตก

ยุงพัฒนาระบบของจิตวิเคราะห์ของตนเองขึ้นมา เขาเรียกมันว่า “จิตวิทยาการวิเคราะห์” (psychoanalytic) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสนใจของเขาในเรื่องการใช้สัญลักษณ์ (symbolism) การศึกษาตำนานโบราณ (mythology) และจิตวิญญาณ (spirituality) แนวคิดหลักของจิตวิทยาการวิเคราะห์คือบุคลิกภาพของปัจเจกบุคคล หรือไซคี (psyche) ซึ่งทำหน้าที่ใน 3 ระดับ โดย “อีโก” (ego) ทำงานในระดับจิตสำนึก (conscious) ส่วน “จิตไร้สำนึกส่วนบุคคล” (personal unconscious) คือที่รวบรวมประสบการณ์ที่ถูกเก็บกดไว้ ถูกลืม หรือถูกดึงออกมาจากจิตสำนึกในทางใดทางหนึ่ง นอกจากนี้ มันยังเป็นที่อยู่ของปมต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มของความรู้สึก ความคิด ความทรงจำ ที่ปกติแล้วจะเกี่ยวข้องกับคนสำคัญ (เช่น พ่อแม่) หรือของสำคัญ (เช่น เงิน) ส่วนในระดับที่ลึกที่สุดและมีพลังที่สุด ยุงจัดไว้ให้เป็นที่อยู่ของการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์คือ “จิตไร้สำนึกร่วม” (collective unconscious) ซึ่งรวมเอาประสบการณ์ของคนรุ่นก่อน หรือแม้กระทั่งบรรพบุรุษที่เป็นสัตว์เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งเป็นการรักษาร่องรอยของการพัฒนาในเชิงวิวัฒนาการของมนุษยชาติตลอดช่วง เวลาที่ผ่านมา จิตไร้สำนึกร่วมเป็นที่เก็บรวมรวมภาพและสัญลักษณ์ที่ใช้ร่วมกัน เรียกว่า “แม่แบบ” (Achetypes) มันเกิดขึ้นในความฝัน เรื่องเล่าปรัมปรา และรูปแบบอื่นๆ สิ่งเหล่านี้เป็นแนวคิดที่เป็นสามัญ เช่น การเกิด การกลับมาเกิดใหม่ ความตาย วีรบุรุษ แผ่นดินแม่ และปิศาจ. รูปแบบของแม่แบบแตกต่างจากระบบภายในบุคลิกภาพ ซึ่งประกอบด้วย “เพอโซนา” (persona) หรือภาพที่ปรากฏแก่สาธารณะ “อะนิมา” (anima) และ “อะนิมัส” (animus) ซึ่งเป็นลักษณะของความเป็นเพศ “ชาโดว์” หรือสัญชาติญาณของความเป็นสัตว์ และ “ตัวตน” (self) ซึ่งแสวงหาความเป็นหนึ่งเดียว (unity) และความสมบูรณ์ (wholeness) ในมุมมองของยุง การวิเคราะห์ทั้งจิตไร้สำนึกส่วนบุคคลและจิตไร้สำนึกร่วมอย่างละเอียดเป็น สิ่งจำเป็นในการทำความเข้าใจบุคลิกภาพของปัจเจกบุคคลอย่างถ่องแท้

บางที ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของยุงอาจจะเป็นทฤษฎีที่ว่าปัจเจกบุคคลสามารถถูกจำแนกตามประเภทของทัศนคติทั่วๆ ไป คือ อินโทรเวิร์ต (introverted – การมองเข้าไปภายใน) กับเอ๊กซ์โทรเวิร์ต (extroverted – การมองออกไปภายนอก) ความสมบูรณ์ของจิต (psychic wholeness) หรือความเป็นปัจเจกบุคคล (individuation) ที่มนุษย์แสวงหาขึ้นอยู่กับการประนีประนอมความโน้มเอียงของรูปแบบการทำงานของจิตใจทั้ง 4 ด้าน ซึ่งแบ่งออกเป็นคู่ตรงข้าม คู่แรกคือ การสัมผัส (sensing) กับ การหยั่งรู้ (intuiting) ซึ่งเป็นวิธีการได้มาซึ่งความรู้ และคู่ที่สองคือ การคิด (thinking) กับ การรู้สึก (feeling) ซึ่งเป็นวิธีการประเมินค่าสิ่งต่างๆ หากลักษณะของบุคลิกภาพด้านใดมีอิทธิพลในจิตสำนึก ด้านตรงข้ามจะขยายตัวมากขึ้นในจิตไร้สำนึก คู่ตรงข้ามเหล่านี้ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางในการทดสอบเกี่ยวกับอาชีพรวมทั้งการทดสอบชนิดอื่นๆ

ในปี 1932 – 1942 ยุงทำงานเป็นศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยโปลีเทคนิคกลางแห่งซูริค แม้ว่าภาวะสุขภาพทำให้เขาต้องลาออก แต่เขาก็เขียนงานเกี่ยวกับจิตวิทยาการวิเคราะห์อย่างต่อเนื่องในช่วงชีวิตที่ว่างจากการทำงาน และสนับสนุนการบรรลุความสมบูรณ์ทางจิตผ่านทางการเปลี่ยนผ่านของบุคคล (personal transformation) และการค้นพบตนเอง (self-discovering) งานของยุงมีอิทธิพลในสาขาอื่นๆ ด้วยเช่นกัน นอกเหนือจากจิตวิทยา งานเขียนของเขาประกอบด้วยงานด้านศาสนา ศิลปะ วรรณกรรม และเรื่องลี้ลับ ได้แก่ การเล่นแร่แปรธาตุ ดาราศาสตร์ โยคะ การทำนายอนาคต และจานบิน หนังสือ Memories, Dreams, Reflections อัตชีวประวัติของยุงได้รับการตีพิมพ์ในปี 1961 ซึ่งเป็นปีที่เขาเสียชีวิต สถาบันจิตวิทยาการวิเคราะห์ก่อตั้งขึ้นทั่วโลก แต่ศูนย์นานาชาติของสถาบัน ซี. จี. ยุง ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1948 ยังคงตั้งอยู่ที่เมืองซูริค ยุงเป็นนักเขียนที่มีผลงานมากมาย งานของเขาที่รวบรวมไว้มี 19 หมวดด้วยกัน แต่งานจำนวนมากไม่ได้ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษจนกระทั่งหลังจากปี 1965 ก่อนหน้าที่จะเสียชีวิตไม่นาน ยุงได้เขียนหนังสือที่ชื่อ Human and His Symbols ขึ้น เป็นหนังสือที่มีชื่อเสียงในการแนะนำแนวคิดของเขาในเรื่องสัญลักษณ์และความฝัน