Stanislav Grof

Image result for Stanislav Grof

สตานิสลาฟ กรอฟ เกิดในปี 1931 ที่กรุงปราก ประเทศเช็คโกสโลวาเกีย (ในขณะนั้น) กรอฟได้รับปริญญาแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชาร์ลส์ (Charles University) และได้รับปริญญาเอกสาขาปรัชญาทางการแพทย์ (Doctor of Philosophy in Medicine) จากสถาบันวิทยาศาสตร์เช็คโกสโลวาเกีย (Czechoslovakian Academy of Science) กรอฟเริ่มต้นทำงานด้วยการทำวิจัยเกี่ยวกับยาหลอนประสาท (psychedelic) ระหว่างปี 1956 – 1960 และต่อมาใน ปี 1960 – 1967 เขาได้รับตำแหน่งผู้ควบคุมและตรวจสอบการวิจัย (Principle Investigator) ที่โปรแกรมวิจัยยาหลอนประสาทของสถาบันวิจัยทางจิตเวช ที่กรุงปราก จากนั้นกรอฟได้ย้ายไปทำงานที่อเมริก ในช่วง 7 ปีแรกที่นั่น เขาทำวิจัยเกี่ยวกับจิตบำบัดโดยใช้สารแอลเอสดี (LSD Psychotherapy) โดยใน 2 ปีแรกเขาทำงานที่ภาคีทางการวิจัยและคลินิก (Clinical and Research Fellow ) ที่มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกิ้น และหน่วยวิจัยของโรงพยาบาลสปริงกรูฟสเตท (Spring Grove State Hospital) ที่เมืองบัลติมอร์ และใช้เวลา 5 ปีต่อมาในการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิจัยจิตเวชที่ศูนย์วิจัยจิตเวชแมรีแลนด์ (Maryland Psychiatric Research Center) นอกจากนี้ กรอฟยังได้เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยเกี่ยวกับการบำบัดด้วยยาหลอนประสาทโครงการท้ายๆ ที่เกิดขึ้นในอเมริกา ต่อมาในปี 1973 – 1987 กรอฟได้รับทุนวิจัยที่สถาบันอีซาเลน (Esalen Institute) ที่เมืองบิ๊กเซอ รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่นี่ เขาและคริสตินา กรอฟ ภรรยาของเขา ได้พัฒนาวิธีการบำบัดที่ไม่ใช้ยาหลอนประสาทขึ้น ซึ่งมีชื่อว่า การบำบัดด้วยการหายใจแบบโฮโลโทรปิก (Holotropic Breathwork) ซึ่งต่อมากลายเป็นเครื่องหมายการค้า (trademark) ของพวกเขาในการบำบัดและการฝึกอบรม

ตลอดช่วงที่ทำวิจัย กรอฟได้ควบคุมการทดลองใช้ยาหลอนประสาทถึงกว่า 3000 ครั้ง และศึกษาจากรายงานของคนอื่นๆ อีกกว่า 2000 ชิ้น ด้วยการเล็งเห็นถึงประสิทธิภาพของยาหลอนประสาทในการเข้าถึงสภาวะเหนือธรรมดาของจิตสำนึก (non – ordinary states of consciousness) กรอฟได้พัฒนาจิตบำบัดโดยใช้สารแอลเอสดีขึ้นเพื่อเข้าถึงสภาวะดังกล่าว แต่เนื่องจากต่อมามีกฎหมายเกี่ยวกับการห้ามใช้ยาหลอนประสาทออกมา เขาจึงเลิกการบำบัดด้วยวิธีการนี้และและหันไปพัฒนาวิธีการอื่นที่จะเข้าถึงสภาวะเหนือธรรมดาของจิตสำนึก จนเกิดเป็นการบำบัดด้วยการหายใจแบบโฮโลโทรปิกขึ้น ซึ่งประกอบด้วยการหายใจอย่างรวดเร็ว (rapid breathing) การใช้ดนตรีที่เร้าความรู้สึกให้นึกถึงภาพเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีต (evocative music) และการสัมผัสที่ทำให้ผ่อนคลาย (bodywork) วิธีการนี้ช่วยให้บุคคลเข้าถึงสภาวะเหนือธรรมดาของจิตสำนึก ที่เรียกว่า สภาวะโฮโลโทรปิก (Holotropic state) ซึ่งกรอฟเชื่อว่าการเข้าถึงสภาวะดังกล่าวเป็นกระบวนการช่วยเยียวยาปัญหาทางจิตใจของบุคคลที่เกิดขึ้น รวมถึงปัญหาทางด้านจิตวิญญาณที่เกิดขึ้น ซึ่งเขาเรียกมันว่า วิกฤติทางจิตวิญญาณ (spiritual crisis or spiritual emergency)

แนวคิดของกรอฟถือเป็นแนวคิดที่บุกเบิกจิตวิทยากระแสที่สี่ (Fourth – Force Psychology) ที่มีชื่อว่า จิตวิทยาเหนือตน (Transpersonal Psychology) ขึ้น กรอฟ อับราฮัม มาสโลว์ (Abraham Maslow) แอนโทนี ซูติซ (Anthony Sutich) และนักจิตวิทยาแนวมนุษยนิยมกลุ่มหนึ่งที่สนใจมิติทางจิตวิญญาณเพื่อขยายขอบเขตงานทางด้านจิตวิทยา ร่วมกันก่อตั้งสมาคมจิตวิทยาเหนือตน (Association of Transpersonal Psychology – ATP) ขึ้น ต่อมา กรอฟเองได้ก่อตั้งสมาคมเหนือตนนานาชาติ (International Transpersonal Association – ITA) ขึ้นและดำรงตำแหน่งประธานสมาคม (ปัจจุบัน ปี 2009 เขากลับมาเป็นประธานอีกครั้ง) ปัจจุบันกรอฟดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยาที่สถาบันการศึกษาแบบองค์รวมแคลิฟอร์เนีย (California Institute of Integral Study – CIIS) และสอนที่สถาบันบัณฑิตศึกษาแปซิฟิกา (Pacifica Graduate Institute) ที่เมืองซานตา บาบาร่า

ผลงานที่สำคัญของสตานิสลาฟ กรอฟ

• การพัฒนาทฤษฎีและการใช้ยาหลอนประสาทเป็นตัวช่วยในการทำจิตบำบัด ซึ่งบรรยายไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อ LSD Psychotherapy จนกระทั่งปัจจุบันหนังสือเล่มนี้ถือเป็นงานที่เพียงชิ้นเดียวที่มีในหัวข้อนี้

• การตีพิมพ์ผลงานที่เป็นบทความทางวิชาการกว่า 150 เรื่อง และหนังสือ 20 เล่ม เกี่ยวกับทฤษฎีและการนำการวิจัยเกี่ยวกับจิตสำนึกสมัยใหม่ไปใช้ในทางจิตเวช จิตวิทยา และจิตบำบัด

• การสร้างแผนที่ทางจิต (Cartography of Psyche) แบบใหม่ขึ้น ซึ่งแบ่งจิตของมนุษย์ออกเป็น 3 ระดับคือ

1.ระดับของจิตในชีวิตทั่วไปของบุคคล (Biographical-recollective level) และจิตไร้สำนึกแนวฟรอยด์ (the Freudian individual unconscious)

2. ระดับของจิตในช่วงขณะแห่งการเกิด (Perinatal level) ซึ่งเกี่ยวข้องกับบาดแผลทางจิตใจในขณะที่เกิด (trauma of birth)

3. ระดับของจิตที่พ้นไปจากตัวตน (Transpersonal level) ซึ่งเกี่ยวข้องกับแง่มุมที่หลากหลาย อาทิ the ancestral, racial, collective, phylogenetic, karmic, and archetypal matrices

• การพัฒนาการบำบัดด้วยการหายใจแบบโฮโลโทรปิกขึ้น ร่วมกับคริสตินา ภรรยาของเขา และโปรแกรมฝึกอบรมที่ชื่อ The Grof Transpersonal Training ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับฝึกอบรมผู้เอื้ออำนวย (facilitator) การหายใจแบบโฮโลโทรปิก ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 1000 คนในหลายพื้นที่ทั่วโลก

• การสร้างแนวคิดพื้นฐานของจิตวิทยาเหนือตนร่วมกันกับอับราฮัม มาสโลว์, แอนโทนี่ ซูติซ และคนอื่นๆ แนวคิดนี้ได้สำรวจประสบการณ์ของมนุษย์ในทุกๆ มิติ และพยายามรวมมิติทางจิตวิทยากับทัศนะแม่บทใหม่ของวิทยาศาสตร์ (new paradigm science) เข้าด้วยกัน กรอฟได้รับรางวัลพิเศษในฐานะผู้สร้างสรรค์และพัฒนาแวดวงจิตวิทยาเหนือตน จากสมาคมจิตวิทยาเหนือตน เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปีของสมาคม ปัจจุบัน แนวคิดจิตวิทยาเหนือตนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจากที่เริ่มต้นขึ้นตอนปลายทศวรรษ 1960 ทุกวันนี้ มหาวิทยาลัยหลายแห่งในอเมริกามีการสอนแนวคิดนี้ มีวารสารพิเศษ 2 ฉบับ และมีการประชุมวิชาการของสมาคม นอกจากนี้ สมาคมจิตวิทยาเหนือตนได้เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก

• การพยายามสร้างพื้นฐานทฤษฎีที่มั่นคงของจิตวิทยาเหนือตน จากการสำรวจงานเขียนของเขาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจิตวิทยาเหนือตนกับความก้าวหน้าของทัศนะแม่บทใหม่ของวิทยาศาสตร์ที่หลากหลาย

• ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานสมาคมจิตวิทยาเหนือตนนานาชาติ เขากับคริสตินาร่วมกันจัดการประชุมใหญ่นานาชาติของสมาคมขึ้น 9 ครั้ง

• การเป็นที่ปรึกษาพิเศษภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เรื่อง Brainstorm จากการเชิญของบริษัท Metro’Goldwyn/Meyer และภาพยนตร์เรื่อง Millenium ปัจจุบัน กรอฟสนใจที่จะกลับไปทำโครงการที่ใช้เทคนิคพิเศษในปัจจุบันแสดงภาพของสภาวะเหนือธรรมดาของจิตสำนึกในบริบทของภาพยนตร์เกี่ยวกับสภาวะเหนือตน