Carl Rogers

Image result for Carl Rogers

คาร์ล รอเจอร์สเกิดที่เมืองโอ๊คพาร์ค รัฐอิลลินอยส์ ในครอบครัวที่เคร่งศาสนาคริสต์. รอเจอร์สเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน (University of Wisconsin) หลังจากสำเร็จการศึกษา เขาเข้าเรียนที่ Union Theological Seminary เพื่อเป็นบาทหลวง พร้อมๆ กับเรียนปริญญาโทและเอกในด้านการศึกษาและจิตวิทยาคลินิกที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University)*. ระหว่างปี 1928 ถึง 1939 รอเจอร์สทำงานเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่สมาคมป้องกันการทารุณเด็ก (Society for Cruelty to Children) ในเมืองโรเชสเตอร์. ในปี 1940 เขาถูกเชิญไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยรัฐโอไฮโอ (Ohio State University). ในช่วงนั้น เขาค่อยๆ พัฒนาระบบการบำบัดที่ยึดผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง (client-centered therapy)** ขึ้น ซึ่งปรากฏเป็นรูปเป็นร่างในหนังสือเล่มที่สองของเขาที่ชื่อ “การปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด” (Counseling and Psychotherapy) ตีพิมพ์ในปี 1942.

รอเจอร์สเชื่อว่าสภาวะทางจิตที่แท้จริงของผู้ป่วยทุกคน (เขาเรียกผู้ป่วยว่า “ผู้รับบริการ” [client]) สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้โดยสภาพแวดล้อมในการบำบัดที่เหมาะสม. ส่วนสำคัญของสภาพแวดล้อมดังกล่าวก็คือ สัมพันธภาพส่วนบุคคลที่ใกล้ชิดระหว่างผู้รับบริการกับผู้บำบัด. การที่รอเจอร์สใช้คำว่า “ผู้รับบริการ” แทนที่คำว่า “ผู้ป่วย” แสดงให้เห็นถึงการปฏิเสธสัมพันธภาพที่เน้นอำนาจเบ็ดเสร็จระหว่างผู้บำบัดกับผู้รับบริการตามแบบแผนดั้งเดิม โดยเขามองว่าผู้บำบัดและผู้รับบริการมีความเท่าเทียมกัน. ผู้รับบริการเป็นผู้กำหนดทิศทางทั่วๆ ไปของการบำบัด ในขณะที่ผู้บำบัดเป็นผู้เพิ่มการเข้าใจตนเองอย่างตระหนักรู้ (insightful self-understanding) ของผู้รับบริการผ่านทางการถามคำถามอย่างไม่เป็นทางการที่ช่วยทำให้กระจ่างชัด. ลักษณะเด่นของวิธีการของรอเจอร์สคือ การสะท้อน (reflecting) คำพูดของผู้รับบริการโดยผู้บำบัด ซึ่งช่วยถ่ายทอดสำนึกของความรับผิดชอบ (sense of respect) ให้เกิดขึ้น ด้วยความเชื่อมั่นในความสามารถของผู้รับบริการในการจัดการกับปัญหาของพวกเขา. แนวคิดในการร่วมมือกันระหว่างผู้รับบริการกับผู้บำบัดมีที่มาจากวิธีการของคาร์ล ยุง (Carl Jung). นอกจากนี้ ในช่วงแรกเริ่มของการพัฒนาระบบของรอเจอร์สยังได้รับอิทธิพลจากออตโต แรนค์ (Otto Rank) อีกด้วย.

การบำบัดแนวรอเจอร์เป็นผลสืบเนื่องจากความเชื่อของเขาที่ว่าองค์ประกอบพื้นฐานในธรรมชาติของมนุษย์คือแรงผลักดันที่มุ่งไปสู่การบรรลุศักยภาพในตนเองอย่างสมบูรณ์ แนวคิดดังกล่าวมีพื้นฐานจากมุมมองเชิงบวกที่มีต่อมนุษยชาติซึ่งตรงข้ามกับมุมมองของกลุ่มการวิเคราะห์จิต (psychoanalytic) ที่มองว่ามนุษย์ถูกขับเคลื่อนโดยแรงกระตุ้นที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสังคมซึ่งหยุดยั้งได้ยากและบ่อยครั้งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก. ในมุมมองของรอเจอร์ส ภารกิจหลักของการบำบัดคือการขจัดอุปสรรคที่ขัดขวางผู้รับบริการในการบรรลุความจริงแท้ในตนเอง (self-actualization). นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งของการบำบัดแนวรอเจอร์ที่แตกต่างจากจิตวิเคราะห์ (psychoanalysis) ก็คือการมุ่งเน้นที่ความรู้สึกในปัจจุบันและทัศนคติของผู้รับบริการมากกว่าประสบการณ์ในวัยเด็ก.

หลังจากย้ายออกจากรัฐโอไฮโอในปี 1945 รอเจอร์สไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago) และมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน. ในปี 1947 และ 1956 รอเจอร์สได้รับตำแหน่งประธานของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association). ความนิยมในวิธีการของเขาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้รอเจอร์ได้รับการกล่าวถึงอย่างมาก. การบำบัดแบบรอเจอร์สถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางในทศวรรษ 1950 และ 1960 แนวคิดของเขาซึ่งต่อต้านอำนาจเบ็ดเสร็จในการบำบัดและมุ่งเน้นที่การยินยอมพร้อมใจเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย. รอเจอร์สตีพิมพ์หนังสือ “การบำบัดแบบยึดผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง: การใช้งานในปัจจุบัน การนำไปใช้ และทฤษฎี” (Client-Centered Therapy: Its Current Practice, Implication, and Theory) ในปี 1951 และผลิตผลงานเป็นจำนวนมากในทศวรรษนั้น. ในปี 1956 สมาคมจิตวิทยาอเมริกันได้มอบรางวัล Distinguished Scientific Contribution Award ให้กับเขา. ในทศวรรษ 1960 รอเจอร์สได้สนใจกระแสแนวคิดที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ (human potential movement)*** (ดูรายละเอียดเพิ่มด้านล่าง – ผู้แปล) ซึ่งเริ่มต้นขึ้นที่รัฐฟลอริดา โดยเขาได้นำหลักการบางอย่างของมันมาใช้ ซึ่งประกอบด้วยหลักการที่มุ่งเน้นความจริงใจและเปิดเผยในการแสดงความรู้สึกและใช้การบำบัดแบบกลุ่ม (group therapy). ในปี 1964 เขาและภรรยาย้ายไปอยู่ที่เมืองลา จอลลา รัฐแคลิฟลอเนีย เขายังคงเขียนหนังสือและบรรยายอย่างต่อเนื่อง และเป็นผู้ร่วมงานรับเชิญ (resident fellow) ที่สถาบันวิทยาศาสตร์ทางพฤติกรรมของตะวันตก (Western Behavioral Science Institution). หนังสือ On Becoming a Person ที่ตีพิมพ์ในปี 1961 กลายเป็นหนังสือที่แพร่หลายที่สุดของเขา. ในช่วง 10 ปีสุดท้ายของชีวิต รอเจอร์สให้ความสนใจอย่างลึกซึ้งกับการปฏิรูปการศึกษา. จากหลักการสำคัญของวิธีการบำบัดของเขา เขาเชื่อว่าครู (เช่นเดียวกับผู้บำบัด) ควรเป็นผู้เอื้ออำนวยการเรียนรู้ (facilitator) มากกว่าที่จะเป็นผู้ตัดสินหรือเป็นเพียงผู้ถ่ายทอดข้อเท็จจริง.

หนังสือเล่มอื่นๆ ของรอเจอร์ส ได้แก่ Psychotherapy and Personality Change (1954) Freedom to Learn: A View of What Education Might Become (1969) Carl Rogers on Encounter Group (1970) Carl Rogers on Personal Power (1977) และ A Way of Being (1980)

แปลจาก The Gale Encyclopedia of Psychology หน้า 549 – 550

* เดิมทีรอเจอร์สเข้าเรียนปริญญาตรีสาขาการเกษตร แต่้ต่อมาเปลี่ยนสาขาเป็นประวัติศาสตร์ หลังจากจบปริญญาตรี ในช่วงแรกรอเจอร์สเข้าเรียนที่ Union Theological Seminary เป็นหลักและมาเทคคอร์สจิตวิทยาและการศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งโคลัมเบีย แต่สองปีหลังจากนั้นเข้าก็ย้ายมาเรียนที่นี่แบบเต็มเวลาจนกระทั่งจบปริญญาโทและเอก